EUR/USD: เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเท่ากับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
- สถิติทั้งหมดของเศรษฐศาสตร์มหภาคในสหรัฐฯ แย่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังคงแข็งค่าขึ้น ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ที่วัดค่าเงินนี้เทียบกับค่าเงินหลักอื่นๆ อีกหกค่าเงิน แตะที่ 95.26 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน เพิ่มขึ้นราว 2% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าทุกอย่างควรเป็นไปในทางกลับกันก็ตาม ถ้าเช่นนั้นแล้ว เหตุผลใดอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ที่แปลกเช่นนี้? คำตอบก็คือ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี เงินเฟ้อที่สูงกว่านี้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนแล้ว อัตราการเติบโตของราคาเพิ่มขึ้น 0.8% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ยกเว้นราคาพลังงานและอาหาร) เพิ่มขึ้นที่ 4.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มที่เร็วที่สุดในรอบ 30 ปีเช่นกัน และเงินเฟ้อจะยังไม่หยุดอยู่เท่านี้ มีการคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นต่อไปในอีกไม่เดือน และจะมีผลต่อราคาที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค พลังงาน และรถ ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพในประเทศนี้ พุ่งเลยจุด 5% เป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน ทำให้มีข้อกังขาถึงคำยืนยันของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเงินเฟ้อสูงนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งนอกจากนักลงทุนจะกังขาแล้ว ตัวธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ยังกังขาด้วยเช่นกัน
หากมองตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิคแล้ว ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ควรอ่อนค่าลงอย่างมากในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงิน (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ. 2020 อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าตลาดและลดอัตราดอกเบี้ย
ในที่สุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ รายงานว่า จะค่อยๆ ลดงบ $120,000 ล้านของโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ โดยจะเริ่มในเดือนนี้ ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดจะฟื้นเต็มที่ภายในกลางปีค.ศ. 2022 และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะรอจนถึงช่วงนั้น
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำนวนมากรู้สึกว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจไม่ทนรอจนถึงช่วงนั้น เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหน่วยงานกำกับดูแลนี้อาจต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก่อนช่วงฤดูร้อนปีค.ศ. 2022
บทวิเคราะห์ของตลาดกลางซื้อขายสัญญาอนุพันธุ์ Chicago Mercantile Exchange (CME) ระบุว่า มีโอกาส 64% ที่อัตราจะสูงขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน ก่อนหน้านี้ ทาง CME เคยมั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีหน้า แต่ขณะนี้ ความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสองครั้งในปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 63% เป็น 80% และความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสามครั้งเพิ่มจาก 29% เป็น 49% และมีผู้สังเกตการณ์บางส่วนเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มดำเนินการเพื่อเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
การคาดการณ์ดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นต่อไป ซึ่งยังมีสาเหตุจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้อำนาจการซื้อคูปองที่ใช้ซื้อพันธบัตรลดลง และมีนักลงทุนไม่มากที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนทดแทนเงินเฟ้อเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น
ข้อมูลของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ระบุว่า ตลาดแรงงานที่ได้รับแรงสะเทือนจากเงินเฟ้อไม่สนใจการคาดการณ์ และสถานการณ์ก็ย่ำแย่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เคยมีการคาดการณ์ว่า ผู้ขอเงินชดเชยการว่างงานจะลดลง 50,000 ราย แต่ตัวเลขจริงกลับเพิ่มขึ้น 59,000 ราย
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทำให้มูลค่าของคู่ EUR/USD ถึงจุดต่ำสุดเท่ากับเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 โดยลดลงไปอยู่ที่ 1.1432 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน และอยู่ที่ 1.1446 เมื่อช่วงสิ้นสุดสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 900 จุดเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรนับตั้งแต่ช่วงต้นปี และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ มูลค่าของคู่ดังกล่าวก็อาจลดลงไปได้อีก
อินดิเคเตอร์ของ D1 ชี้ลง ซึ่งเป็นการยืนยันการคาดการณ์ดังกล่าว และมีความแม่นยำ 100% เมื่อเทียบอินดิเคเตอร์เทรนด์อื่นๆ เช่นเดียวกับออสซิลเลเตอร์ แม้ว่าออสซิลเลเตอร์ราวหนึ่งในสี่จะอยู่ในโซนที่มีแรงขายมากเกินไปก็ตาม
เมื่อคำนึงถึงการปรับฐานที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ 40% เห็นว่าคู่ดังกล่าวจะเติบโตขึ้น 60% เห็นว่าคู่นี้จะลดค่าลงไปอีก โดยระดับแนวรับที่ใกล้เคียงที่สุดคือ 1.1435, 1.1350 และ 1.1250 ในขณะที่ระดับแนวต้านอยู่ที่ 1.1525, 1.1575, 1.1615, 1.1665 และ 1.1715
สำหรับสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่จะออกมาในเร็วๆ นี้นั้น จะมีการเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นของจีดีพีเขตยูโรโซนในไตรมาสที่สาม ในวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน โดยข้อมูลของการค้าปลีกในสหรัฐฯ จะเผยแพร่ในวันเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้สำคัญต่อการประเมินผลกระทบของเงินเฟ้อต่อตลาดผู้บริโภคในสหรัฐฯ และในช่วงท้ายสัปดาห์ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป จะกล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน
GBP/USD ชัยชนะอีกครั้งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงส่งแรงกดดันมายังค่าเงินอังกฤษ ทำให้มูลค่าคู่ GBP/USD ลดลงเป็นเดือนที่หกติดต่อกัน และมีค่าลดลงต่ำสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอยู่ในโซนแนวรับ/แนวต้านระยะยาว ซึ่งคู่นี้เคยอยู่ในโซนนี้เป็นพักๆ ตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 โดยมีมูลค่าต่ำสุดในประเทศสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 1.3352 และปิดสัปดาห์ที่ 1.3421
สถิติมหภาคที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน ไม่ได้ช่วยสนับสนุนค่าเงินปอนด์เช่นกัน โดยจีดีพีในไตรมาสที่สามสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงกว่า 3.5 เท่า จาก 23.6% ไปอยู่ที่ 6.6% และอัตราการเติบโตการผลิตภาคอุตสาหกรรมตกลงจาก 4.0% อยู่ที่ 2.9% (จากที่เคยคาดการณ์ที่ 3.4%) การชะลอตัวลงอย่างมากนี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพื้นฐานของอินดิเคเตอร์ฝั่งยูโรโซนและสหรัฐฯ ที่ราบเรียบกว่าแล้ว ทำให้นักลงทุนผิดหวังและรู้สึกกลัว
ภาวะที่อาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัวในขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้น รวมทั้งการเติบโตของจีดีพีที่ต่ำ เป็นอันตรายอย่างมากต่อเศรษฐกิจอังกฤษที่ยังคงได้ผลกระทบจากเบร็กซิต ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อประจำปีจะเพิ่มขึ้นที่ราว 5% ภายในเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 และจะลดลงไปที่ 2% ตามที่ตั้งเป้าไว้ภายในสิ้นปีค.ศ. 2022 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก
แอนดริว ไบเลย์ ประธานธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ระบุก่อนการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนว่า เมื่อพิจารณาอินดิเคเตอร์ดังกล่าวแล้ว อาจต้องมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด โดยตลาดมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกับปฏิกิริยาต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดเชื่อว่า ธนาคารแห่งนี้จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะพบว่าไม่เป็นจริง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษไม่ได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ย และคู่ GBP/USD มีมูลค่าลดลงอีก
จะมีการเผยแพร่ข้อมูลการว่างงานของอังกฤษในวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน ตามด้วยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนตุลาคมในวันถัดมา โดยปกติแล้ว สถานะของตลาดแรงงานและเงินเฟ้อจะส่งผลต่ออารมณ์ตลาดและทิศทางของค่าเงินปอนด์ ในขณะเดียวกัน ความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อทิศทางตลาดแต่ละทิศทางนั้นแทบจะเท่ากัน โดยผู้เชี่ยวชาญ 35% เห็นว่าจะเกิดแนวโน้มตลาดหมี 35% เห็นว่าจะเกิดแนวโน้มตลาดกระทิง และอีก 30% มีความเห็นแบบเป็นกลาง
สำหรับออสซิลเลเตอร์ใน D1 นั้น 85% เป็นสีแดง และ 15% บ่งชี้ว่า คู่นี้มีแรงขายมากเกินไป อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ยังเป็นสีแดง ระดับแนวรับอยู่ที่ 1.3350 และ 1.3200 เป้าหมายของตลาดหมีอยู่ที่ 1.3135 ในขณะที่ระดับแนวต้านและเป้าหมายของตลาดกระทิงอยู่ที่ 1.3510, 1.3570, 1.3610, 1.3735 และ 1.3835
USD/JPY: ราคาพันธบัตรพุ่งสูง
- จากการคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดหวังว่า คู่ USD/JPY จะกลับมาอยู่ในแดนบวกที่ช่อง 113.40-114.40 ในช่วงแรก การคาดการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากคู่นี้ยังคงพุ่งตัวลงไปในทิศทางปรับฐาน ลงไปแตะที่ 112.70 อย่างไรก็ตาม คู่นี้ก็กลับมาพุ่งขึ้นที่ 114.30 ตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ โดยปิดตัวช่วงท้ายสัปดาห์ที่ 113.90
การกลับทิศทางของคู่นี้มีสาเหตุมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ “แบบเฟ้อ” และผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยพันธบัตรสหรัฐฯ และคู่ USD/JPY ต่างส่งผลต่อกันและกันโดยตรง
หากพิจารณาจากนโยบายการเงินแบบอ่อนของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และการเพิ่มการควบคุมเส้นผลตอบแทนแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าค่าเงินเยนจะยังคงอ่อนค่าลง และคู่นี้จะยังคงเติบโตต่อไป แน่นอนว่า การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อทิศทางดังกล่าวด้วย
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นว่า การที่คู่ USD/JPY พุ่งขึ้นไปแตะที่ 114.00 เป็นการกลับมาของแนวโน้มตลาดหมีที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 อย่างไรก็ตาม กราฟในช่วงวันที่ 10 มีนาคม – 27 กันยายน แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนตัวไปด้านข้างสามารถดำเนินไปได้หลายเดือนแม้จะไม่มีตัวขับเคลื่อนที่แข็งแรง ทั้งนี้ ค่าเงินเยนเป็นค่าเงินที่ปลอดภัยไม่เหมือนกับค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ และสามารถอยู่ท่ามกลางตลาดการเงินที่ผันผวนได้เป็นเวลานาน
ขณะนี้ นักวิเคราะห์ 55% คาดการณ์ว่า คู่นี้จะพุ่งตัวขึ้นต่อไปจนทะลุขอบบนของช่อง 114.40 ไปอยู่ในช่วง 115.00-116.00 และจะมีค่าสูงสุดในช่วงเวลาหลายปี นักวิเคราะห์อีก 35% มีความเห็นแบบตรงกันข้าม และอีก 10% คาดว่า คู่ USD/JPY จะอยู่ในช่อง 113.40-114.40 เป็นระยะเวลาหนึ่ง
ทางด้านออสซิลเลเตอร์ใน D1 นั้น 80% มีทิศทางขึ้น 10% มีทิศทางลง และอีก 10% เป็นสีเทาอยู่ตรงกลาง ในขณะที่อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% อยู่บนฝั่งเขียว ระดับแนวต้านอยูที่ 114.40, 114.70 และ 115.50 โดยเป้าหมายกระทิงในระยะยาวอยู่ที่ 118.65 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2016 ในขณะที่ระดับแนวรับที่ใกล้เคียงที่สุดอยู่ที่ 113.80, 113.40, 112.70, 112.00 และ 111.65
ข้อมูลของจีดีพีญี่ปุ่นในไตรมาสที่สามจะเผยแพร่ในวันจันทร์ 15 พฤศจิกายน โดยมีการคาดการณ์ว่า จีดีพีจะลดลงจาก +0.5% ไปอยู่ที่ -0.2%
เงินคริปโต: บิทคอยน์จะลงและขึ้นตรงช่วงไหน?
- เมื่อวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน บิทคอยน์มีมูลค่าสูงสุดเป็นสถิติใหม่ที่ $66,8917 อีธีเรียมก็มีค่าสูงสุดเป็นสถิติใหม่เช่นกัน โดยอยู่ที่ $4,856 มูลค่ารวมของตลาดคริปโตในจุดสูงสุดอยู่ที่ $2.972 ล้านล้าน
ดัชนีความกลัวและความโลภคริปโต (Crypto Fear & Greed Index) พุ่งขึ้นจาก 73 ไปอยู่ที่ 84 ไปอยู่ในโซนโลภสุดขีด (Extreme Greed) แสดงให้เห็นว่า บิทคอยน์ถูกซื้อมากเกินไปอย่างมากและต้องมีการปรับฐาน ซึ่งตามมาด้วนการตั้งเป้าราคา และคู่ BTC/USD มีทิศทางกลับตัวมาอยู่ที่โซน $63,000-64,000
แพลตฟอร์มวิเคราะห์ตลาดเงินคริปโต Santiment ระบุว่า กระแส “กระทิงจัด” ต่อบิทคอยน์ยังคุกรุ่นในแวดวงนักลงทุนรายย่อย โดยอ้างอิงถึงอินดิเคเตอร์บิทคอยน์ที่อยู่นอกเครือข่ายบล็อกเชน อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเทรดรายใหญ่หรือ “วาฬบิทคอยน์” นั้น สถานการณ์อาจไม่ชัดเจนนัก โดยในด้านหนึ่ง ปริมาณเหรียญในที่อยู่ที่มีบิทคอยน์ 100-10,000 เหรียญนั้น มีบิทคอยน์ลดลงเกือบ 60,000 เหรียญภายในช่วงสิบวันที่ผ่านมา แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่อยู่ที่มีบิทคอยน์มากกว่า 10,000 เหรียญกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ว่า วาฬบิทคอยน์รายใหญ่กำลังไล่ซื้อเหรียญจากนักเทรดรายย่อยอยู่ ช่วยให้ราคาบิทคอยน์ไม่ตกลงอย่างรวดเร็ว
การปรับฐานเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนอยู่ที่ “เพียง” ราว 8.5% โดยเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับความผันผวนโดยปกติของบิทคอยน์ สถานการณ์ในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น “ความมั่นใจที่ไม่สมเหตุสมผล” ของนักลงทุนต่อบิทคอยน์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการปรับฐานมากกว่านี้ได้
ผู้เชี่ยวชาญของตลาดแลกเปลี่ยนเงินคริปโต คราเคน (Kraken) เห็นด้วยกับการคาดการณ์ดังกล่าว โดยบททบทวนที่คราเคนเผยแพร่ระบุว่า เดือนพฤศจิกายนมักเป็นเดือนที่ผันผวน ทำให้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนต่อเดือนสูงที่สุด หากราคาบิทคอยน์หยุดที่แนวต้านที่ราว $70,000 ก็อาจมีการปรับฐานไม่เกิน 20% ซึ่งหมายความว่า มูลค่าคู่ BTC/USD อาจลดลงมาอยู่ที่ $55,000
อัลท์คอยน์ เชอร์พา (Altcoin Sherpa) นักวิเคราะห์เงินคริปโต คาดการณ์ไว้ในทางเดียวกันกัน “ราคาอาจตกลงไปที่ $55,000 เป็นช่วงสั้นๆ” เขาเขียน “แต่ผมไม่สนการเคลื่อนไหวเล็กน้อยพวกนี้หรอก ผมเดินหน้าสะสมบิทคอยน์ต่อไป และเมื่อเหรียญเหล่านี้เคลื่อนไหว มันจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว”
วิลลี วู ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่รู้จักอีกราย สรุปว่า โซนราคา $50,000-60,000 นั้นเป็นแนวรับที่เชื่อถือได้ และบิทคอยน์มีมูลค่ารวมในตลาดที่ $1 ล้านล้าน ราคาบิทคอยน์แต่ละเหรียญจึงไม่น่าต่ำไปกว่าโซนดังกล่าว ทั้งนี้ เขาอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์กลาสโนด (Glassnode)
บิทคอยน์เป็นการประกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ มีราคาผู้บริโภคสูงสุดเป็นสถิติใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แม้จะมีการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและความคาดหวังถึงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่สัญญาณของการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างหนักก็ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก ทำให้พวกเขาต้องลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกในหุ้นและตลาดเงินคริปโต ทำให้ทั้งบิทคอยน์และดัชนีหุ้นถึงจุดสูงสุดเป็นสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า มีการคาดการณ์ว่า บิทคอยน์จะอยู่ในโซนเขียวจนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขยายนโยบายการเงิน
นักวิเคราะห์ของคราเคนสรุปว่า วงจรกระทิงปัจจุบันของบิทคอยน์อาจทำราคาสูงสุดที่ $96,000 งานวิจัยของนักวิเคราะห์กลุ่มนี้ระบุว่า ไตรมาสที่สี่ในขณะนี้มีความเคลื่อนไหวคล้ายไตรมาสที่สี่เมื่อปีค.ศ. 2017 (ค่าสหสัมพันธ์อยู่ที่ 0.88) ซึ่งได้ผลตอบแทนที่ +220% พวกเขายังคาดการณ์ด้วยว่า ราคาบิทคอยน์จะขึ้นไปแตะสูงสุดราว $300,000
นักวิเคราะห์คริปโตชื่อดังที่มีชื่อเล่นว่า แพลนบี (PlanB) ระบุว่า ราคาบิทคอยน์อาจพุ่งขึ้น 700% ในช่วงต้นปีค.ศ. 2022 “หากคุณดูสัญญาณที่มากับห่วงโซ่ (chain) ตอนนี้ ผมกล้าพูดได้เลยว่า ราคาจะพุ่งไปสุงสุดในเกือบหกเดือน ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดไตรมาสแรกของปีหน้า” เขาระบุ “ผมเชื่อว่า เราจะมีอัตราราคาบิทคอยน์ที่ $100,000 ในสิ้นปี และสกุลเงินนี้อาจเติบโตต่อไปตามโมเดล X (S2FX) และขึ้นไปแตะระดับ $288,000 และอาจไปต่อได้มากกว่านั้น ผมคงไม่แปลกใจหากผมเห็นราคาพุ่งขึ้นไปที่ $400,000 - $500,000 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปีหน้า”
อย่างไรก็ตาม เบนจามิน โคเวน นักยุทธศาสตร์คริปโต เชื่อว่า บิทคอยน์จะไม่เติบโตอย่างรวดเร็ว “เราเริ่มบิทคอยน์ที่ราคาราว $28,000- $29,000 แล้วนั่นคือเมื่อต้นปีค.ศ. 2021” โคเวนเขียน “เราเห็นอะไรบ้างจนถึงตอนนี้? ไม่ได้เห็นอะไรมากใช่ไหม? จะเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นภายในสิ้นปีไหม? ก็อาจเป็นไปได้นะ แต่ผมไม่มั่นใจว่าปีค.ศ. 2021 จะเป็นปีที่บิทคอยน์เติบโต”
ขณะที่ราคาสูงสุดและต่ำสุดในรอบปีของบิทคอยน์อาจดูต่างกันมาก แต่โคเวนกลับเห็นว่า ผู้ถือบิทคอยน์อาจไม่ได้ยินดีกับกำไรที่ได้เท่าใดนัก “ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับบิทคอยน์ในปีค.ศ. 2021 สิครับ ไม่มีอะไรพิเศษเลย บิทคอยน์ทำกำไรได้ราว 130% และผมมั่นใจว่าผู้ถือเหรียญส่วนใหญ่จะไม่แม้แต่ลุกจากเก้าอี้เพื่อให้ได้ 130% เลยด้วยซ้ำ” “เรากลับไปที่ราคาสูงสุดของช่วงนั้น ผู้ถือบิทคอยน์อาจรู้สึกยินดีบ้างเมื่อช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ค.ศ. 2021 เป็นไปได้ว่าราคาจะกระโดดอย่างแรง แต่ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า วงจรนี้จะอยู่จนถึงอย่างน้อยในปีค.ศ. 2022 เมื่อมองกลับไปที่ปีค.ศ. 2021 แล้ว ผมว่าเวลาส่วนใหญ่ของปีถูกใช้ไปกับการเก็บสะสมเหรียญอีกรอบ”
อีธีเรียม ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของบิทคอยน์ มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นมาก โดยเติบโตขึ้น 6.7 เท่าในปีค.ศ. 2021 และปีนี้ก็ยังไม่สิ้นสุดลง ราหุล ไรย์ ผู้จัดการกองทุนเงินคริปโต บล็อกทาวเวอร์ แคปิตอล (BlockTower Capital) เชื่อว่า ความอเนกประสงค์ของบล็อกเชนอีธีเรียมจะเป็นปัจจัยหลักที่จะดึงดูดทั้งนักพัฒนาและนักลงทุน เขามั่นใจว่าหากอีธีเรียมสามารถเริ่มต้นระบบการเงินโลกครั้งใหม่ได้ ในอนาคตตลาดอีธีเรียมจะใหญ่กว่าตลาดบิทคอยน์มาก เศรษฐีเงินคริปโตผู้นี้ยังคาดการณ์ด้วยว่า อีธีเรียมอาจเป็นเงินคริปโตสกุลแรกที่มีมูลค่ารวมหลายล้านล้านดอลลาร์ภายในกลางปีค.ศ. 2022
เมื่อเดือนเมษายน นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ธนาคารลงทุนสัญชาติอเมริกัน ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน โดยพวกเขาเห็นว่า บิทคอยน์เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่แข่งกับโลหะมีค่าได้ และเป็นสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่าได้ แต่ในระยะยาวบิทคอยน์อาจต้องเปิดทางให้อีธีเรียม ซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเงินคริปโต
สแตนลีย์ ดรัคเคนมิลเลอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทลงทุน Duquesne Capital และหนึ่งในผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวอลล์สตรีท เตือนว่า มูลค่าของทรัพย์สินใดๆ ก็ตาม สามารถลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อใดก็ได้ โดยเขาระบุว่า “เงินคริปโต หุ้นมีม งานศิลปะ ไวน์ หลักทรัพย์ ….มีฟองสบู่ในทุกสิ่ง ในทรัพย์สินทุกอย่างบนโลกใบนี้” และฟองสบู่ก็มักแตก
“เหตุการณ์ทุกอย่างบนโลกมีผลต่อหลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง” ดรัคเคนมิลเลอร์อธิบาย “ผมลองจินตนาการถึงโลกทุกวันนี้ แล้วลองมองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และโลกจะเป็นอย่างไรในอีก 18 เดือน และหากเป็นจริง หลักทรัพย์ประเภทใดจะมีมูลค่าต่างจากตอนนี้มาก? ผมคิดว่านักลงทุนจำนวนมากมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งอาจไปได้ด้วยดีในระยะสั้น แต่เป็นหายนะในระยะยาว”
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ:เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงินโดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้นการซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ