อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:
- EUR/USD ในการคาดการณ์ของสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) เลือกฝั่งเงินยูโรมากกว่า ในส่วนการวิเคราะห์กราฟ อินดิเคเตอร์เทรนด์ 90% และออสซิลเลเตอร์ 75% บนกรอบ D1 ก็เข้าข้างฝั่งกระทิงเช่นกัน และคำทำนายนี้ปรากฏออกมาเกือบถูกต้อง “เกือบ” เพราะว่ามีการคาดการณ์ว่า หลังจากราคาตัดทะลุแนวต้านที่ 1.1900 คู่ EUR/USD จะขยับถึงโซน 1.2000-1.2100 อย่างไรก็ตาม ราคาขึ้นไปจริง ๆ ถึงแค่ระดับ 1.1960 ในช่วงปลายสัปดาห์ทำการ บางทีนี่อาจเป็นเพราะช่วงวันหยุดยาวในสหรัฐฯ ในโอกาสวันขอบคุณพระเจ้าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน และวัน Black Friday เมื่อวันที่ 27
คู่นี้ถูกดันขึ้นไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มดีขึ้นในฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศสผ่านจุดสูงสุดของคลื่นการระบาดรอบที่สองและเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดบางส่วน แต่ก็ยังมีปัจจัยรอบโลกหลายประการที่ทำให้การทำนายพฤติกรรมราคาคู่นี้ยังคงเป็นเรื่องยาก จำนวนยอดผู้ขอใช้สวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสูงถึง 778,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดในรอบห้าสัปดาห์ แสดงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทรุดตัวลง ฝั่งเดโมแครตและรีพับลีคยังคงไม่สามารถตกลงกันเรื่องจำนวนเงินอุดหนุนเพิ่มเติมภายใต้โครงการ QE และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่อยากที่จะร่วมมือกับฝั่งตรงข้ามแต่อย่างใด
สำหรับจังหวะการปรากฏขึ้นของวัคซีนต้าน COVID-19 และวัคซีนนั้นจะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศโลกเก่าและโลกใหม่อย่างไรนั้น ยังไม่มีความชัดเจน มีแต่เพียงการคาดเดาเท่านั้น การประเมินผลในหมู่ผู้เชี่ยวชาญมีความแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับการตัดสินใจของ นายโจ ไบเดน ผู้รอเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ที่จะแต่งตั้ง นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารเฟดในตำแหน่งรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ
ตลาดหวังว่าจะได้รับแนวทางบางประการจากผลการประชุมของคณะกรรมการตลาดเสรีในธนาคารเฟดสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้รับความชัดเจนเท่าใดนัก ผลที่ได้มีเพียงการหารืออย่างไม่เด็ดขาดเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อสินทรัพย์ โดยมีการกล่าวว่า “ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่า คณะกรรมาธิการควรทบทวนแผนการดำเนินงานใหม่ และใช้แนวทางที่เน้นผลลัพธ์และมีคุณภาพเป็นสำคัญ” แล้วทุกอย่างก็เป็นไปในลักษณะเดิม ๆ เหมือนเช่นเคย
ณ ขณะนี้ สิ่งเดียวที่ไม่มีข้อโต้แย้งก็คือ ดัชนีดอลลาร์ปรับลดลงมาจากระดับสูงสุดของเดือนมีนาคมมากกว่า 10% อันเป็นผลมาจากนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด โดยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบสองปี คู่ EUR/USD กลับสู่ตัวเลขกลางเดือนสิงหาคม 2020 และข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างไร้ข้อกังขา - GBP/USD ผลลัพธ์สำหรับคู่นี้เรียกได้ว่าแทบเป็นศูนย์ อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเบร็กซิต กว่าสามสัปดาห์ของเดือนพฤศจิกายนราคามีจุด Pivot Point ที่ 1.3300 แต่หากเส้นนี้ทำหน้าที่เป็นแนวต้านในช่วงสองสัปดาห์แรก เส้นดังกล่าวได้กลายเป็นแนวรับ โดยราคาได้ขยับในกรอบด้านข้างมาตลอดห้าวันทำการ ในช่วงแคบ ๆ ที่ 1.3300-1.3400 และปิดตลาดที่ด้านล่างของกรอบ
- USD/JPY เงินเยนมีอิทธิพลอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อการปรับลดลงของดัชนีดอลลาร์ DXY การแข็งค่าขึ้นของดัชนี และราคา USD/JPY เคลื่อนที่เข้าสู่กรอบขาลงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมของปีนี้ ควบคู่ไปกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนารอบโลก ทำให้นักลงทุนหันมาพึ่งเงินเยนญี่ปุ่นในฐานะสินทรัพย์หลบภัย
ราคาคู่นี้ยังคงรักษาตัวอยู่ในกรอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีช่วงการซื้อขายที่แคบลงเพียง 100 จุด ซึ่งเป็นช่วงครึ่งบนของกรอบ สำหรับความผันผวนสุดท้ายนั้นน้อยยิ่งกว่าเดิม ราคาเปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ 103.80 และปิดที่ 104.05 จึงปรับขึ้นมาเพียง 25 จุดเท่านั้น - คริปโตเคอเรนซี ในครั้งนี้ เราจะข้ามบทนำไป เช่น บรรดาข่าวอาชญากรรม และเราจะเอ่ยถึงสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ราคาบิทคอยน์อยู่ในโซน overbought เป็นสิ่งที่เราเขียนถึงมาแล้วหลายโอกาส และเป็นสิ่งที่เตือนโดยอินดิเคเตอร์หลายตัว เช่น RSI และดัชนี Crypto Fear & Greed Index ทุกอย่างชี้ว่า ตลาดจำเป็นจะต้องปรับฐานราคาอย่างเร่งด่วน และก็เกิดขึ้นจริง ๆ โดย BTC/USD ปรับลดลงมา และขณะนี้นักเทรดและนักลงทุนกำลังกังวลเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญสองประการ คือ 1) หากนี่เป็นการปรับฐานราคา มันจะจบลงที่ระดับเท่าไร? และ 2) นี่คือการปรับฐานที่จะนำไปสู่หายนะที่เคยเกิดขึ้นกับบิทคอยน์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 หรือไม่? ในครั้งนี้ ราคาเข้าใกล้กับระดับ $20,000 ก่อนที่จะกลับทิศทางอย่างรวดเร็ว และดิ่งลงมายัง $3,125 ในปีถัดมา จึงหดตัวมากกว่า 6 เท่าด้วยกัน
แนวโน้มขาขึ้นครั้งนี้ของบิทคอยน์เริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนจากบริเวณ $10,000 และก็หยุดลงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่บริเวณ $19,500 ตามมาด้วยการทรุดตัว และระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ของวันถัดมาคือ $16,280 หลังจากรีบาวด์เล็กน้อย BTC ก็กลับมาอยู่ที่โซน $17,000 ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน
สำหรับระดับสูงสุดของวันที่ 25 พฤศจิกายน มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $582 พันล้านเหรียญ แต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน มูลค่าดังกล่าวลดลงมาเหลือ $500 พันล้านเหรียญ ซึ่งหายไปถึง 14% การเคลื่อนที่นี้มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอัตราแลกเปลี่ยน BTC/USD สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ที่ระดับ 86 ระดับเดียวกันกับเมื่อเจ็ดวันก่อนหน้า และยังคงชี้ว่า ราคาอยู่ในสภาวะที่มีแรงซื้อมากเกินไป จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่บิทคอยน์ยังคงปรับฐานลงมาไม่เสร็จสมบูรณ์
สำหรับอัลท์คอยน์ มีหลายตัวทำราคาเป็นบวกได้ดีกว่าบิทคอยน์ หากราคา BTC/USD หายไปประมาณ 11% ในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา Ripple (XRP/USD) กลับมีผลงานในทางตรงกันข้าม โดยราคาขึ้นมาเกือบ 70% ด้าน Ethereum (ETH/USD) ปิดตลาดโดยมีผลลัพธ์เป็นศูนย์ ทั้งนี้ อัลท์คอยน์ยอดนิยมยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ธุรกิจสำหรับอัลท์คอยน์ชั้นนำนั้นเติบโตดีในช่วงฤดูร้อน อันเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง (โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างขึ้นบนฐานเครือข่าย Ethereum) ณ ตอนนี้ นักลงทุนได้ลงทุนไปแล้วเป็นเงิน $13 พันล้านดอลลาร์ในภาค DeFi และจำนวนกระเป๋าวอลเล็ตที่บรรจุเงินอย่างน้อย 1 ETH ทำสถิติสูงสุดที่ 1.171 ล้านวอลเล็ต
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD เราเคยพูดถึงหมอกที่ปกคลุมตลาดการเงินในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาในตอนต้นของบทรีวิวนี้ และแม้ว่าการปรากฏขึ้นของวัคซีนต้าน COVID-19 จะเป็นประโยชน์อย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่ออัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินบางสกุล จริงอยู่ที่ระดับความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนานั้นมีความแตกต่างกันไป และอัตราการฟื้นตัวก็จะแตกต่างกันไปเช่นกัน ชัดเจนว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ นายโจ ไบเดน จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในประเทศ และการยุติสงครามการค้ากับยุโรปและจีน เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในปีหน้า Goldman Sachs คาดการณ์ว่า USD จะอ่อนค่าลงอีก 6% ในปี 2021 ส่วน Citibank ยังไม่ตัดโอกาสที่ดัชนีดอลลาร์อาจลดลงมา 20% และ Morgan Stanley คาดว่า EUR/USD จะเติบโตจากระดับปัจจุบันไปจนถึง 1.2500
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) คาดการณ์ว่า ราคาคู่นี้จะเติบโตขึ้นในสัปดาห์ที่จะมาถึงเช่นกัน อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ 75% ในกรอบ H4 และ D1 เข้าข้างแนวโน้มดังกล่าวเช่นกัน โดยมีเป้าหมายใกล้ที่สุดที่ระดับเดิม คือ การตัดผ่านระดับสูงสุดของวันที่ 1 กันยายน โดยราคาจะแข็งตัวที่โซน 1.2000-1.2100
มุมมองในทางตรงกันข้ามเป็นของนักวิเคราะห์ที่เหลือ 35% การวิเคราะห์กราฟ และออสซิลเลเตอร์จำนวนหนึ่งในสี่ที่ให้สัญญาณว่า ยูโรอยู่ในโซน overbought บนกรอบเวลาทั้งสอง โดยมีแนวรับ ได้แก่ 1.1880, 1.1800, 1.1740 และ 1.1685
ในบรรดาดัชนีเศรษฐกิจมหภาคของสัปดาห์นี้ เราจะจับตาดูการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ (ISM) ในวันที่ 1 และ 3 ธันวาคม รวมถึงสถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันที่ 2 และ 4 ธันวาคม นอกจากนี้ เราจะได้ทราบสถิติตลาดผู้บริโภคของยูโรโซนในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม และวันพฤหสับดีที่ 3 ธันวาคม อีกทั้ง คำแถลงของ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม รวมถึง นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการก่อตัวของเทรนด์ระยะสั้น - GBP/USD แนวโน้มทั่วไปของการที่ดอลลาร์อ่อนค่านั้นส่งผลต่อคำทำนายสำหรับคู่นี้เช่นกัน นักวิเคราะห์ 75% ทำนายว่า ราคาจะขึ้นไปในตอนแรกยังกรอบด้านบนของช่อง 1.3300-1.3400 โดยมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะตัดทะลุแนวต้านที่ 1.3400 และขยับขึ้นไปอีก 80-100 จุด แต่มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 30% ที่โหวตให้กับสถานการณ์ดังกล่าว การวิเคราะห์กราฟบนกรอบ H4 และออสซิลเลเตอร์ 90% รวมถึงอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ก็ชี้ภาพไปทางตลาดกระทิงเช่นกัน
ด้านอินดิเคเตอร์บนกรอบ H4 ให้ภาพที่ผสมกัน แต่การวิเคราะห์กราฟบนกรอบ D1 ชี้ให้เห็นว่า หลังจากราคาเคลื่อนที่ในกรอบ 1.3300-1.3400 มาแล้วหลายวัน ราคาอาจขยับลงมายังระดับ 1.3200 หลังจากนั้นอาจกลับขึ้นไปยังกรอบด้านบนของช่วงราคาดังกล่าว และอาจขยับถึงระดับสูงสุดของวันที่ 1 กันยายนที่ 1.3480
ระดับแนวรับ คือ 1.3175, 1.3100 และ 1.3000 - USD/JPY แม้ว่าคู่นี้จะขึ้นมาเพียงเล็กน้อย แนวโน้มดังกล่าวก็ทำให้นักวิเคราะห์คิดถึงการปรับตัวจากการเคลื่อนที่ขาลงเข้าสู่เทรนด์ด้านข้าง ดังนั้น นักวิเคราะห์ 60% จึงสันนิษฐานว่า ราคาจะออกด้านข้างในช่วง 103.70-105.30 อยู่สักระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟบนกรอบ D1 และมีออสซิลเลเตอร์เพียง 10% ที่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในภาวะ oversold ในกรณีที่ราคาสามารถตัดทะลุกรอบด้านบนของช่องดังกล่าว ราคาจะเจอกับแนวต้านที่ 105.70 และถัดมาคือ 106.15
ผู้เชี่ยวชาญ 40% ที่เหลือ รวมถึงการวิเคราะห์กราฟบนกรอบ H4 และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 90% บนทั้งสองกรอบเวลาเข้าข้างตลาดหมี โดยชี้ว่าราคาจะขยับลงทิศใต้ แนวรับแรกคือ 103.70 ตามมาด้วยระดับต่ำสุดของวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ 103.15 ซึ่งตรงกับเส้นตรงกลางของช่องขาลงในระยะกลาง เป้าหมายสุดท้ายของตลาดหมีคือจุดต่ำสุดของปี 2020 ที่ราคาเคยไปถึงเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ 101.17
- คริปโตเคอเรนซี หากคุณดูที่กราฟ คุณจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันนั้นคล้ายกันมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกล่าวว่า ตลาดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และการทรุดตัวลงเมื่อสามปีก่อนหน้านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง จริงอยู่ที่บิทคอยน์ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นจากทั้งรายย่อยและนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ จริงอยู่ที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เงินพันธบัตรเพิ่มขึ้นมามหาศาล และยิ่งเพิ่มความนิยมให้กับบิทคอยน์ในฐานะสินทรัพย์หลบภัยจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ถ้าเกิดว่าแนวโน้มขาลงในตอนนี้นั้นเป็นผลมาจากผู้เก็งกำไรรายใหญ่เริ่มเก็บกำไรล่วงหน้าก่อนสิ้นปีล่ะ? แล้วถ้าเกิดมีการตั้งคำสั่ง stop orders ไว้ใกล้กับจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์และคำสั่งดังกล่าวเริ่มทำงานบ้างแล้วล่ะ?
จากรายงานของ CoinTelegraph ก่อนที่ราคาจะทรุดตัวลง มาตรวัดปริมาณเงินที่ไหลเวียนเข้ามาในตลาดแลกเปลี่ยนแสดงถึงการออกบิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้นในตลาด ซึ่งชี้ถึงความต้องการของเหล่าปลาวาฬในตลาดที่ตั้งใจจะขายสินทรัพย์เงินคริปโตของพวกเขา หลังจากนั้นเมื่อเห็นสถานการณ์ในปัจจุบัน นักลงทุนรายย่อยหลายคนจะเริ่มทำตามเช่นกัน นอกจากนี้ วันหยุดคริสต์มาสก็ไม่ไกลออกไป ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาที่คนมีความต้องการถือเงินสดมากขึ้น
ดังนั้น จึงมีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่าแนวโน้ม BTC/USD จะยังคงปรับลงต่อไป แต่ไม่มีเหตุผลชัดเจนสำหรับการเติบโตรอบใหม่ให้เห็นอย่างน้อยถึงต้นปี 2021 แต่แน่นอนว่า ราคาอาจดีดขึ้นทิศเหนือได้อีกครั้ง นักลงทุนผู้เก็งกำไรรายใหญ่อาจพยายามที่จะเล่นฝั่งกระทิง หรือ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลจีนอาจมีข้อตกลงกับเหล่านักขุดเหรียญ ทำให้เหรียญขาดแคลนขึ้นมาในตลาดเงินคริปโต ทั้งหมดนี้เป็นไปได้และอาจส่งผลให้ราคากลับขึ้นทิศเหนืออีกครั้ง
เมื่อมองไปข้างหน้าคงต้องอ้างถึงความเห็นของ นายมาติ กรีนสแปน นักวิเคราะห์คนหนึ่ง เขาเชื่อว่า ตลาดไม่เหมือนกับเมื่อปี 2017 โดยขณะนี้ ตลาดกำลังถูกควบคุมโดยไม่ใช่นักเก็งกำไร แต่เป็นบรรดาบริษัทและนักลงทุนรายสถาบันที่มีความสนใจในเสถียรภาพของราคา การเข้ามาของผู้เล่นรายใหญ่นำไปสู่ข้อเท็จจริงก็คือ ความผันผวนจะลดต่ำลง และตรงนี้เองที่ทำให้น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้นายกรีนสแปนและผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน (65%) คาดการณ์ว่า ราคาจะทำสถิติสูงสุดใหม่อีกในปีนี้
ในระหว่างนี้ ตลาดให้ความสนใจว่าการปรับฐานของราคาจะไปจบลงที่บริเวณใด โดยทั่วไป นี่จะเป็นการปรับฐานหรือเป็นการกลับทิศทางสู่แนวโน้มขาลง? นอกเหนือจากการแข็งตัวที่โซน $17,000 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว แนวรับที่สำคัญถัดไปอาจเป็นราคาต่ำสุดของวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ $16,00-16,300 ซึ่งตรงกับระดับ Fibonacci แต่หากราคาสามารถตัดผ่านแนวรับดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ เราจะได้เห็นดิ่งลงไปยังโซน $14,700-15,700 ซึ่งเป็นระดับที่ราคาเคลื่อนที่ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน และเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่แนวโน้มขาขึ้นจะเริ่มขึ้น
สำหรับตอนท้ายของบทรีวิวฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งบทวิเคราะห์ของ นายแม็ก ไคเซอร์ อดีตนักวิเคราะห์ของ Wall Street เชื่อว่า ภาวะช็อคในอุปทานบิทคอยน์จะผลักราคาขึ้นไปยัง $1 ล้านดอลลาร์ “ความต้องการถือบิทคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด” เขากล่าว “ในขณะที่ปริมาณนั้นคงที่อยู่ที่ 900 เหรียญต่อวัน และในปี 2024 ปริมาณดังกล่าวจะถูกฮาล์ฟลงมาที่ 450 BTC ต่อวัน ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงคิดว่า สถาบันต่าง ๆ ที่ซื้อบิทคอยน์จะซื้อโดยตรงจากนักขุดเหรียญ และคนเราจะไม่มีโอกาสที่จะซื้อเหรียญ เพราะราคาจะพุ่งขึ้นไปยัง $1 ล้านดอลลาร์ต่อ BTC ในระหว่างนี้ คน Gen Z ที่ซื้อบิทคอยน์ไว้หลายเหรียญเมื่อราคาไม่ถึง $100 จะกลายเป็นผู้นำทรงอิทธิพลบนโลกคนใหม่ ระเบียบโลกกำลังจะเปลี่ยนไป”
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ